วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

การหาแนวทางการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด

คณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ได้มีการประชุมพิจารณากันหลายครั้ง เพื่อหาแนวทางการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด ที่มีความเป็นไปได้และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด จากการสำรวจใต้น้ำโดยละเอียดของกองประดาน้ำ และถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ จากการวิเคราะห์ของผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารอากาศ จากคำแนะนำของ พันเอก Roger Lewis ผู้แทนทูตทหารอังกฤษและคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตลูกระเบิด และจากคำแนะนำของ พลตรี Jay Malloy Director, Interagency Capabilities ผู้แทนคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) และ Dr.Christopher Cowlin Program Manager, Pacific ผู้แทน Expeditionary Exploitation Unit ONE (EXU-1) ในการประชุมหารือครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2562 คณะอนุกรรมการฯ ได้กำหนดแนวทางในการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดไว้ 4 แนวทาง ดังนี้ 
  • แนวทางที่ 1 การทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี High Order ทีละลูก ณ จุดที่พบ
  • แนวทางที่ 2 การทำลูกระเบิดให้ปลอดภัย ทีละลูก ณ จุดที่พบ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี 
  • แนวทางที่ 3 เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำไปตามแม่น้ำแม่กลอง ออกทะเลที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และทำลายทิ้งด้วยวิธี High Order ในทะเลเปิดบริเวณปากอ่าวไทย รวมระยะทางในการเคลื่อนย้าย 45 กม.
  • แนวทางที่ 4 เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำทีละลูกไปยังหลุมทำลายที่จัดเตรียมไว้ด้านท้ายน้ำ ระยะทางประมาณ 940 เมตร นำลูกระเบิดหย่อนลงไปในหลุม หลังจากนั้นทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี Low Order แล้วนำวัตถุระเบิดหลักส่วนที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี 

ภาพประกอบแนวทางที่ 4



ผลการประชุมของคณะอนุกรรมฯ เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2562 สรุปว่า แนวทางที่ 4 น่าจะเป็นแนวทางที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และมีความเป็นไปได้ โดยใช้บอลลูนควบคุมระยะไกล ยกลูกระเบิดให้ลอยขึ้นเหนือพื้นน้ำประมาณ 2 เมตร ทำการเคลื่อนย้ายใต้น้ำทีละลูกไปยังหลุมทำลายด้านท้ายน้ำที่จัดเตรียมไว้ โดยรักษาระดับความลึกจากผิวน้ำไม่น้อยกว่า 10 เมตรตลอดการเคลื่อนย้าย ในขณะเคลื่อนย้ายหากเกิดการระเบิดขึ้นรัศมีอันตรายจะมีระยะเพียง 300 เมตรจากจุดศูนย์กลางระเบิด เนื่องจากมีน้ำช่วยลดแรงดันระเบิดและสะเก็ดระเบิดไว้ 

หลุมทำลายที่อยู่ทางด้านท้ายน้ำ ระยะทางประมาณ 940 เมตร อยู่ริมตลิ่งฝั่งซ้าย โดยขุดหลุมลงไปในพื้นท้องน้ำ ขนาดกว้าง 12 เมตร ลึกลงไป 5 เมตร ทำการปลดบอลลูนหย่อนระเบิดลงในหลุม แล้วทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี Low Order แล้วนำส่วนดินระเบิดหลักที่เหลือขึ้นบนผิวน้ำ เคลื่อนย้ายไปทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลาย ของแผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี 

แผนที่แสดงตำแหน่งหลุมทำลายทางด้านท้ายน้ำ

*************************************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม