การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม. แบ่งออกเป็น 2 สัญญา คือ
- สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล วงเงิน 8,198,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน บริษัท เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง
- สัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล-หัวหิน วงเงิน 7,520,000,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดย บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้รับจ้างสัญญางานก่อสร้าง
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – หัวหิน จะอยู่ในช่วง กม.47+700 ถึง กม.140+700 ระยะทางประมาณ 93 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง สนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รองรับจำนวนผู้โดยสารและปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนาระบบขนส่ง และโลจิสติกส์ และแผนการพัฒนาต่างๆ ของรัฐบาล ที่สนับสนุนให้มีการใช้ระบบขนส่งระบบราง เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดมลพิษ ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และสามารถประหยัดการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หนองปลาไหล ที่มา (การรถไฟแห่งประเทศไทย. 2561) |
ในโครงการก่อสร้างดังกล่าว จะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟคอนกรีตเสริมเหล็ก จำนวน 82 สะพาน สะพานรถไฟเหล็กข้ามแม่น้ำแม่กลอง 1 สะพาน สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) 12 แห่ง และสะพานกลับรถ (U-Turn Bridge) 19 แห่ง
ในการก่อสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำแม่กลอง จำนวน 1 สะพาน ก็คือ สะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานจุฬาลงกรณ์เดิม บริเวณ ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งจากข้อมูลหลักฐานเบื้องต้น บริษัทฯ ผู้รับจ้างทราบว่า มีลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ระเบิดจมอยู่ใต้แม่น้ำแม่กลอง บริเวณแนวที่จะก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ ซึ่งหากมีการก่อสร้างสะพานแล้วอาจจะส่งผลให้ลูกระเบิดดังกล่าวเกิดระเบิดขึ้น เป็นอันตรายต่อการก่อสร้าง รวมทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน บ้านเรือน อาคาร สำนักงาน และสิ่งปลูกสร้างโดยรอบได้ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทฯ ผู้รับจ้าง จึงได้เข้าหารือต่อ นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ให้ช่วยหาแนวทางในการเก็บกู้ลูกระเบิดดังกล่าว ก่อนที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
แนวการก่อสร้างสะพานรถไฟทางคู่ใหม่ |
แนวการก่อสร้างสะพานรถไฟทางคู่ใหม่ ปรับปรุงจาก (การรถไฟแห่งประเทศไทย. 2561) |
กระแสข่าวเรื่องการพบลูกระเบิดอากาศที่ยังไม่ระเบิด (Unexploded Bombs : UXBs) สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ กลายเป็นกระแสข่าวดัง เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวเมืองราชบุรีที่อยู่โดยรอบหากเกิดการระเบิดขึ้นมา สื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และโซเซียลมีเดีย ต่างนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณกลางเดือน สิงหาคม พ.ศ.2561 จนความทราบถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิดนั้นเสีย เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และไม่กีดขวางต่อการสร้างทางรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่
ลูกระเบิดอากาศที่ยังไม่ระเบิด ที่จมอยู่ใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์นี้ เป็นลูกระเบิดที่ตกค้างมาจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในต้นปี พ.ศ.2488 กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดประสงค์ทำลายสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เพื่อตัดเส้นทางถอยทัพของกองทัพญี่ปุ่นจากประเทศพม่า ไปยังภาคใต้ของประเทศไทย ผ่านมาเลเซีย ไปยังฐานทัพใหญ่ของญี่ปุ่นที่ประเทศสิงคโปร์ สันนิษฐานว่าลูกระเบิดอากาศที่ถูกทิ้งลงมาเพื่อทำลายสะพานฯ บางลูกไม่ทำงาน จึงปรากฏอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบันนี้ ในการสำรวจของกรมการทหารช่าง เมื่อปี พ.ศ.2548 พบลูกระเบิดอากาศดังกล่าวจำนวน 3 ลูก แต่ยังไม่ได้พิสูจน์ทราบว่าเป็นลูกระเบิดชนิดใด
ลูกระเบิดอากาศที่พบนี้ ถือว่ายังมีอันตรายอยู่เสมอ พร้อมที่จะระเบิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ เมื่อกระบวนการทำงานครบสมบูรณ์ ไม่มีใครยืนยันได้ว่าลูกระเบิดนี้ด้าน จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (explosive ordnance disposal : EOD) หลายท่านต่างให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องตั้งสมมติฐานไว้ก่อนว่า ลูกระเบิดเหล่านี้เป็นลูกระเบิดที่ยังไม่ทำงาน และพร้อมที่จะเกิดระเบิดขึ้นได้ทุกเวลา ดังนั้น การเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด จึงมีความสำคัญต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ และมีความสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน เพราะไม่สามารถที่จะสร้างสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์เดิมได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบต่อแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 เป็นส่วนรวม
********************************
กลับหน้า บทความทางวิชาการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น