วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

สรุปแนวทางการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดขั้นสุดท้าย

อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
จากข้อมูลของลูกระเบิดที่พบ การสำรวจทางกายภาพ การวิเคราะห์สถานะและการทำงานของลูกระเบิด รวมทั้งคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ประกอบกับผลการประเมินความเสี่ยงข้างต้น พอที่สรุปแนวทางการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดในแต่ละแนวทาง ได้ดังนี้


แนวทางที่ 1 การทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี High Order ทีละลูก ณ จุดที่พบ จากผลการประเมินความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สูงมาก การลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือ ให้เกิดการระเบิดขึ้นโดยต่อเนื่อง ซึ่งหากระเบิดพร้อมกันทั้ง 7 ลูก จะก่อให้เกิดความเสียหายขนาดใหญ่ต่ออาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง ในเขตเมืองราชบุรี ในรัศมีไม่ต่ำกว่า 1 กม. แต่วิธีนี้ ความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีน้อยมาก 

แนวทางที่ 2 การทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี Low Order ทีละลูก ณ จุดที่พบ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี จากผลการประเมินความเสี่ยงของวิธีนี้อยู่ในระดับปานกลาง การทำลายลูกระเบิดทีละลูกด้วยวิธี Low Order จะต้องใช้เลือกใช้เทคนิคที่เสี่ยงน้อยที่สุด เพราะหากผิดพลาดอาจจะกลายเป็น High Order ได้ และอาจต้องเลือกทำลายลูกระเบิดที่ส่งผลกระทบต่อลูกอื่นๆ น้อยที่สุด การลดความเสี่ยงที่จะเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือเกิดการระเบิดขึ้นโดยต่อเนื่อง อาจกระทำได้โดยจัดสร้างแนวป้องกันรอบลูกระเบิดเพื่อบังคับทิศทางของแรงดันและสะเก็ดระเบิด หากมีการระเบิดขึ้น ในด้านความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีน้อยมาก และแทบไม่มีเลยหากใช้วิธีการตัดส่วนที่เป็นชนวนออก ด้วยเครื่องตัดโลหะใต้น้ำแรงดันสูง ควบคุมระยะไกล 

แนวทางที่ 3 เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำไปตามแม่น้ำแม่กลอง ออกทะเลที่ปากแม่น้ำแม่กลอง และทำลายทิ้งด้วยวิธี High Order ในทะเลเปิดบริเวณปากอ่าวไทย รวมระยะทางในการเคลื่อนย้าย 45 กม.จากผลการประเมินความเสี่ยงของวิธีนี้อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะการเกิดระเบิดในขณะยกและเคลื่อนย้าย ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นถึงร้อยละ 80 เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน การลดความเสี่ยงในการยกและเคลื่อนย้าย ต้องใช้เครื่องมือยกลูกระเบิดที่ควบคุมระยะไกล ส่วนการลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือให้เกิดการระเบิดต่อเนื่องขึ้นยิ่งควบคุมได้ยาก การเคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำจากสะพานจุฬาลงกรณ์ ไปยังจุดระเบิดในทะเลเปิดบริเวณปากอ่าวไทย มีระยะทางถึง 45 กม. ค่อนข้างเสี่ยงต่อความผิดพลาดทั้งการรักษารูปทรงและลักษณะของลูกระเบิดให้อยู่ในสภาพเดิม การระดับความลึกของลูกระเบิดที่ควรไม่น้อยกว่า 10 เมตร กระทำได้ยาก และด้วยอิทธิพลของกระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ล้วนมีผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายทั้งนั้น ประกอบกับสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองมีบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของราษฎร อาคาร และสิ่งปลูกสร้างสำคัญ ปลูกอยู่หนาแน่น ยากต่อการแจ้งเตือนและอพยพราษฎรให้พ้นรัศมีอันตรายในขณะที่ทำการเคลื่อนย้ายผ่านไป ซึ่งหากลูกระเบิดเกิดระเบิดขึ้น ณ ที่ใด รัศมีอันตรายจะอยู่ที่ 300 เมตร จากจุดศูนย์กลางระเบิด 

แนวทางที่ 4 เคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำทีละลูกไปยังหลุมทำลายที่จัดเตรียมไว้ด้านท้ายน้ำ ระยะทางประมาณ 940 เมตร นำลูกระเบิดหย่อนลงไปในหลุม หลังจากนั้นทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี Low Order แล้วนำวัตถุระเบิดหลักส่วนที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง จ.ราชบุรี จากผลการประเมินความเสี่ยงของวิธีนี้อยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะการเกิดระเบิดในขณะยกและเคลื่อนย้าย ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูงถึงร้อยละ 80 ซึ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติงาน การลดความเสี่ยงอาจต้องใช้เครื่องมือยกลูกระเบิดที่ควบคุมระยะไกล ส่วนการลดความเสี่ยงที่จะเกิดจากคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือให้เกิดการระเบิดต่อเนื่องขึ้น สามารถควบคุมได้โดยจัดสร้างแนวป้องกันรอบลูกระเบิดเพื่อบังคับทิศทางของแรงดันและสะเก็ดระเบิด การเคลื่อนย้ายลูกระเบิดใต้น้ำจากสะพานจุฬาลงกรณ์ ไปยังหลุมทำลายที่จัดเตรียมไว้ด้านท้ายน้ำระยะทาง 940 เมตร มีความเสี่ยงปานกลาง เนื่องจากระยะทางไม่ไกลนัก การรักษารูปทรงและลักษณะของลูกระเบิดให้อยู่ในสภาพเดิมและการรักษาระดับความลึกของลูกระเบิดที่ควรไม่น้อยกว่า 10 เมตร สามารถกระทำได้โดยประณีต อิทธิพลของกระแสน้ำ และน้ำขึ้นน้ำลง ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีผลกระทบน้อยต่อการเคลื่อนย้าย การสร้างแนวป้องกันแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิดสองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ตลอดเส้นทางการเคลื่อนย้าย กระทำได้ง่าย ถึงแม้จะมีบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยของราษฎร อาคาร และ สิ่งปลูกสร้างสำคัญ ปลูกอยู่หนาแน่นก็ตาม การแจ้งเตือนและอพยพราษฎรให้พ้นรัศมีอันตราย 300 เมตร จากเส้นทางการเคลื่อนย้าย สามารถควบคุมได้ง่าย 


ปัจจัยความเสี่ยงที่คณะอนุกรรมการฯ ให้ความสำคัญที่สุด คือ การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในขั้นตอนที่สำคัญ คือ การยกและการเคลื่อนย้ายลูกระเบิด (ในแนวทางที่ 3 และ 4) ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดระเบิดขึ้นเป็นไปได้สูงถึงร้อยละ 80 ตามข้อพิจารณาของผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารอากาศ และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ซึ่งหากเกิดระเบิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือเกิดการระเบิดขึ้นโดยต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง ในรัศมี 1 กม. บริเวณโดยรอบจุดศูนย์กลางระเบิด และเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของสะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานธนะรัชต์ได้

แนวทางที่จะหลีกเหลี่ยงการยกและเคลื่อนย้ายลูกระเบิด คือ แนวทางที่ 1 และ 2 เท่านั้น แต่แนวทางที่ 1 ซึ่งใช้วิธี High Order ยากที่จะลดความเสี่ยงจากการเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังระเบิดลูกที่เหลือทำให้เกิดการระเบิดต่อเนื่อง ดังนั้น แนวทางที่ 2 จึงเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสม แต่ต้องเลือกเทคนิควิธีในการทำ Low Order ที่เหมาะสมเช่นกัน จากการศึกษาพบว่าวิธีที่เหมาะสมที่สุดก็คือ วิธีการทำให้ปลอดภัย (Render safe procedure : RSP) โดยใช้เครื่องมือพิเศษ ตัดแผ่นปิดท้ายของส่วนที่เป็นชนวนออก ด้วยเครื่องมือตัดด้วยน้ำแรงดันสูง (Water Cutting Machine) (กองทำลายวัตถุระเบิด กรมสรรพาวุธทหารอากาศ. 2562) ดังภาพด้านล่าง 

การตัดแผ่นปิดท้ายส่วนที่เป็นชนวน
โดยเครื่องมือตัดด้วยน้ำแรงดันสูง ที่มา (https://ant-ag.com/en)


ตัวอย่างการติดตั้งเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงใต้น้ำ
เพื่อตัดแผ่นปิดท้ายของชนวน ที่มา (https://ant-ag.com/en)
เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูง
แสดงการตัดแผ่นปิดท้ายของชนวน ที่มา (https://ant-ag.com/en)


สำหรับเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูง ตามภาพด้านบน เป็นเครื่องมือของ บริษัท ANT AG จำกัด สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ผลิตเครื่องมือและเครื่องจักรสำหรับการตัดด้วยกระบวนการ Water Abrasive Suspension (WAS) ซึ่งเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงนี้ เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับนักเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD) ซึ่งมีใช้ในหลายประเทศ เครื่องมือนี้จะสามารถช่วยรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตของเจ้าหน้าที่ EOD ได้ เพราะเป็นการควบคุมในระยะไกล 

แต่เดิมคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2562 พิจารณาเลือกแนวทางที่ 4 แต่จากรายงานผลการประเมินความเสี่ยงในการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติใหม่ในการประชุมครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2562 ตกลงใจเลือกแนวทางที่ 2 ตามที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปได้และมีความเสี่ยงน้อยที่สุด คือ การทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี Low Order ทีละลูก ณ จุดที่พบ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี 

อนุกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นควรดำเนินการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง 7 ลูก บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ โดยใช้แนวทางที่ 2 คือ การทำลูกระเบิดให้ปลอดภัย (Render safe procedure : RSP) ทีละลูก ณ จุดที่พบ โดยใช้เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล ทำการตัดแผ่นปิดท้ายส่วนที่เป็นชนวนของลูกระเบิดออก โดยทำการตัดใต้น้ำในความลึกของลูกระเบิดนั้นๆ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อ บนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี

เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกลชนิดนี้ ในประเทศไทยไม่มีใช้ จึงมีความจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือไปยังบริษัทฯ ผู้ผลิตในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านทางสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย

การเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดตามแนวทางที่ 2 นี้ ถือเป็นไปตามหลักการสากลของการเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD) 2 ประการ คือ 
  1. ปกป้องชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน (Protect People) และ
  2. รักษา คงสภาพ สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนโดยรอบ (Protect Property)
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น จากการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดตามแนวทางที่ 2 สามารถลดความเสี่ยงในแต่ละปัจจัยได้ ดังนี้ 

การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน สามารถลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
  1. การซักซ้อมแผนการปฏิบัติงาน
  2. ตัดแผ่นปิดท้ายของของลูกระเบิดที่เป็นส่วนของชนวนออก ด้วยเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูง ที่สามารถควบคุมในระยะไกลได้ โดยทำการตัดใต้น้ำในตำแหน่งที่ลูกระเบิดอยู่
การเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ส่งต่อไปยังลูกระเบิดที่เหลือเกิดการระเบิดต่อเนื่อง สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยการจัดทำแนวป้องกันใต้น้ำ รอบลูกระเบิดที่จะทำการตัดชนวน ด้วยถุงทราย หรือ Big Bag 

การเกิดความเสียหายต่ออาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง ในรัศมี 1 กม. จากกลุ่มลูกระเบิดทั้ง 7 ลูก สามารถลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
  1. จัดทำแนวป้องกันใต้น้ำ รอบลูกระเบิด และกลุ่มลูกระเบิดด้วยถุงทราย หรือ Big Bag
  2. จัดทำแนวป้องกันบริเวณสันตลิ่ง เพื่อป้องกันอาคาร สำนักงาน ที่อยู่อาศัย และ สิ่งปลูกสร้าง ที่มีที่ตั้งอยู่ริมตลิ่ง ด้วยถุงทราย หรือ Big Bag เพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดระเบิด
  3. เปิดประตู หน้าต่าง ของอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และสิ่งปลูกสร้าง ที่มีที่ตั้งอยู่ในรัศมี 1 กม. จากกลุ่มลูกระเบิด เพื่อลดความเสียหายและลดสะเก็ดระเบิดทุติยภูมิ
การเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างของสะพานจุฬาลงกรณ์และสะพานธนะรัชต์ สามารถลดความเสี่ยงได้โดย จัดทำแนวป้องกันรอบตะม่อสะพานจุฬาลงกรณ์และสะพานธนะรัชต์ด้วยถุงทราย หรือ Big Bag
ความปลอดภัยของชีวิตประชาชนโดยรอบในรัศมี 1 กม.จากกลุ่มลูกระเบิด ในระหว่างที่กำลังปฏิบัติงานเก็บกู้นั้น สามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการจัดทำแผนการอพยพประชาชนที่มีประสิทธิภาพสามารถปฏิบัติได้จริง จะต้องไม่มีประชาชนอยู่ในพื้นที่อันตรายดังกล่าวแม้แต่เพียงคนเดียว ยกเว้นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่จำเป็น 


สรุปแนวทางการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดขั้นสุดท้าย
คณะอนุกรรมการทำงานเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ได้เสนอแนวทางการเก็บกู้ฯ ดังกล่าว ต่อที่ประชุมของคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์การเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง โดยมี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการ จ.ราชบุรี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ เป็นประธาน เมื่อ 12 มิ.ย.2562 ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ ศาลากลาง จ.ราชบุรี สรุปดังนี้
  1. ที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด จำนวน 7 ลูก บริเวณใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ด้วยวิธีการทำลูกระเบิดให้ปลอดภัย (Render safe procedure : RSP) ทีละลูก ณ จุดที่พบ โดยใช้เครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล ทำการตัดแผ่นปิดท้ายส่วนที่เป็นชนวนของลูกระเบิดออก โดยทำการตัดใต้น้ำในความลึกของลูกระเบิดนั้นๆ แล้วนำส่วนของวัตถุระเบิดหลักที่เหลือขึ้นมาทำลายต่อบนบก ณ พื้นที่ทำลายที่เตรียมไว้ บริเวณสนามทำลาย แผนก 6 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี
  2. ให้คณะทำงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ จำนวน 3 คณะ ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานการปฏิบัติการสำรวจ เก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิด คณะทำงานอพยพและสวัสดิภาพประชาชน และคณะทำงานประชาสัมพันธ์และการสื่อสาร พิจารณาจัดทำแผนและงบประมาณในงานที่เกี่ยวข้อง 
  3. มอบหมายให้ผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารเรือ สืบราคาเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากบริษัทฯ ผู้ผลิตในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เสนอต่อคณะทำงานเพื่อจัดทำงบประมาณ
  4. ให้ หน.สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ราชบุรี รับผิดชอบในการจัดแผนและการใช้งบประมาณในการเก็บกู้ทั้งหมด เสนอต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอใช้งบประมาณป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในส่วนกลาง 
  5. แผนการดำเนินการเก็บกู้ลูกระเบิด คาดว่าจะดำเนินการในประมาณต้นปี พ.ศ.2563 ซึ่งสาเหตุที่ต้องล่าช้าด้วยเหตุผลดังนี้
    1. ขั้นตอนการเสนอของบประมาณในการเก็บกู้
    2. ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องมือเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูงควบคุมระยะไกล จากต่างประเทศ
    3. ในช่วงปลายปีจะเป็นฤดูน้ำหลาก กระแสน้ำในแม่น้ำแม่กลองไหลเชี่ยวและแรง มีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงาน 
  6. เนื่องจากการเก็บกู้ลูกระเบิดมีแนวโน้มจะล่าช้าออกไป ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยเกรงว่าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-หัวหิน จะแล้วเสร็จไม่ทันตามสัญญาในสิ้นปี 2563 จึงได้ตัดสินใจเปลี่ยนแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลองใหม่ เป็นรูปแบบสะพานแขวน ไม่มีตะม่อกลางน้ำ ซึ่งสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เลย ไม่ต้องรอการเก็บกู้ลูกระเบิดแล้วเสร็จ

******************************
สรุปถึง วันที่ 12 มิ.ย.2562

อ่านต่อ  บรรณานุกรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม