วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ข้อพิจารณาความเสี่ยงที่ควรคำนึง


การพบลูกระเบิดอากาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังไม่ระเบิดครั้งนี้ ถือว่าเป็นการพบลูกระเบิดจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย โดยพบถึงจำนวน 7 ลูก อยู่บริเวณใกล้กัน เป็นลูกระเบิดที่จมอยู่ใต้น้ำในความลึก 8-11 เมตร เป็นเวลานานกว่า 74 ปี การเก็บกู้และทำลายเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะทำให้ลูกระเบิดเกิดการระเบิดขึ้นมาได้ จากการประชุมหารือผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้อแนะนำต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญด้านเก็บกู้และทำลายลูกระเบิด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อนุกรรมการฯ จึงได้สรุปข้อพิจารณาด้านความเสี่ยงที่ควรคำนึงไว้ ดังนี้ 

หากขยับเขยื้อน โอกาสจะระเบิดร้อยละ 80

นาวิน วุฒิรณฤทธิ์ (2562) ผู้แทนกรมสรรพาวุธทหารอากาศ กล่าวไว้ในรายงานบันทึกการประชุมหารือความคืบหน้าในการเก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดบริเวณแม่น้ำแม่กลอง ว่าการเคลื่อนย้ายหรือขยับเขยื้อนลูกระเบิด แล้วไม่เกิดระเบิดขึ้นมีเพียงร้อยละ 20 นั่นหมายถึงโอกาสที่จะระเบิดมีถึงร้อยละ 80 โดยมีเหตุผล ดังนี้
  1. ปัจจุบันลูกระเบิดอากาศอยู่ในแนวนอนขนานกับพื้นท้องน้ำ น้ำยาเคมีอาจกัดกร่อนผ่านพลาสติกที่ยึดเข็มแทงชนวนไปบางส่วน เนื่องจากในท่านอน น้ำยาอะซิโตน จะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกทำให้มีช่องว่างด้านบน หากเปลี่ยนท่าทางของลูกระเบิดอากาศให้หัวลูกระเบิดอากาศต่ำลง น้ำยาอะซิโตนจะทำการละลายแผ่นพลาสติกที่ยึดเข็มแทงชนวนที่เหลือต่อไป ชนวนจะจุดตัวเร็วกว่าเดิม เพราะเนื่องจากพื้นที่ยึดเกาะเหลืออยู่น้อย อาจเกิดระเบิดเร็วกว่า 6-144 ชม.ขึ้นกับพื้นที่แผ่นพลาสติกที่เหลืออยู่
  2. ลูกระเบิดอากาศอยู่ในท่านอนขนานกับท้องน้ำ น้ำยาเคมีอาจกัดกร่อนแผ่นพลาสติกที่ยึดเข็มแทงชนวนไปบางส่วน แต่พลาสติกที่เหลืออยู่บางส่วนยังยึดเกาะเข็มแทงชนวนไว้ หากทำให้เกิดการขยับเขยื้อน อาจทำให้แผ่นพลาสติกที่ยึดเข็มแทงชนวนเกิดแตกร้าว เนื่องจากอายุที่มากกว่า 70 ปี (Celluloid crack) ทำให้เข็มแทงชนวนเป็นอิสระ ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นทันทีทันใด
  3. ลูกระเบิดอากาศอยู่ในท่าหัวปักลง น้ำยาเคมีอาจกัดกร่อนแผ่นพลาสติกที่ยึดเข็มแทงชนวนเรียบร้อยแล้ว แต่เข็มแทงชนวนอาจติดขัดกับวัสดุบางอย่าง ถ้าขยับเขยื้อนทำให้ลูกระเบิดอากาศแกว่ง อาจทำให้วัสดุที่ติดขัดกับเข็มแทงชนวนหลุดออก ทำให้เข็มแทงชนวนเป็นอิสระซึ่งจะทำให้เกิดจุดตัวขึ้นทันทีทันใด
  4. ลูกระเบิดอยู่ในท่าทางใดๆ ก็ตาม แต่แผ่นพลาสติกยึดเข็มแทงชนวนอาจไม่ถูกกัดกร่อนโดยน้ำยาอะซิโตน แต่เมื่อเกิดการขยับเขยื้อนลูกระเบิดอากาศ อาจทำให้พลาสติกที่ยึดเข็มแทงชนวนที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ซึ่งอาจจะกรอบ เปราะ แตกหักง่าย จะทำให้เข็มแทงชนวนเป็นอิสระ เกิดจุดระเบิดในทันที
  5. ลูกระเบิดในท่าทางใดๆ ก็ตาม หากเข็มแทงชนวนพุ่งชนเชื้อปะทุระเบิด (Detonator) แล้วไม่เกิดการจุดตัว มีกรณีนี้เท่านั้นที่เกิดการด้าน 100% ไม่มีอันตรายในการหยิบ ยก และเคลื่อนย้าย 
คำแนะนำของประเทศอังกฤษ
Roger Lewis (2562) ผู้แทนทูตทหารอังกฤษประจำประเทศไทยและคณะ ให้คำแนะนำว่า หลักคิดในการเก็บกู้ลูกระเบิดอากาศ 2 ประการ คือ

  1. ปกป้องชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน (Protect People)
  2. รักษา คงสภาพ สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือนโดยรอบ (Protect Property)
ลูกระเบิดอากาศที่ติดตั้งชนวนถ่วงเวลานานด้วยสารเคมี ทางอังกฤษไม่มีวิธีการเก็บกู้ที่ปลอดภัยที่เป็นมาตรฐาน และขอแนะนำว่าไม่ควรกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวน กระตุ้น หรือกระทบกระแทกลูกระเบิดอากาศในบริเวณที่ลูกระเบิดอากาศวางอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกันทั้ง 7 ลูก โดยขอสรุปข้อแนะนำดังนี้
  1. ให้เคลื่อนย้ายลูกระเบิดอากาศใต้น้ำ โดยใช้เครื่องยกไปยังพื้นที่ปลอดภัย โดยการเคลื่อนย้ายทีละลูก จากนั้นทำให้ปลอดภัย โดยแยกชนวนลูกระเบิดอากาศออกจากวัตถุระเบิดหลัก (Low Order) แล้วค่อยนำขึ้นสู่ผิวน้ำ เคลื่อนย้ายไปทำลายในพื้นที่ทำลาย หากยังไม่ได้ทำ Low order อาจเกิดการระเบิดขึ้นในขณะเคลื่อนย้ายได้ และรัศมีอันตรายจากสะเก็ดระเบิด 1.8 กม. จากจุดศูนย์กลางระเบิด
  2. เทคนิคการเคลื่อนย้ายลูกระเบิดโดยใช้อุปกรณ์ยกพิเศษขึ้นจากพื้นท้องน้ำ ต้องรักษาระดับลูกระเบิดอากาศไม่ให้แกว่งหรือขยับรุนแรงขณะเคลื่อนย้าย นอกจากนี้ ต้องรักษาระดับความลึกของน้ำอย่างน้อย 10 เมตร จะลดรัศมีอันตรายจากสะเก็ดระเบิดลงเหลือที่ระยะ 300 เมตร โดยใช้ความลึกของน้ำเป็นกันชน (Buffer) ป้องกันการระเบิดและการแตกกระจายของสะเก็ดระเบิดหากเกิดระเบิดขึ้น และแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ที่จะเคลื่อนย้ายได้ไกลสุด ประมาณ 70 เมตร และถ้าสามารถเคลื่อนย้ายลูกระเบิดออกจากกลุ่ม โดยมีระยะห่างมากกว่า 70 เมตร การระเบิดต่อเนื่องจะไม่เกิดขึ้น
  3. การลดความเสียหาย ได้แนะนำให้ใช้ถุงใบใหญ่ (Big Bag) สร้างแนวป้องกัน (Barricade) ทั้งสองข้างทาง ในระหว่างที่ทำการเคลื่อนย้าย หน่วยงานที่รับผิดชอบเตรียมแผนอพยพ ประชาสัมพันธ์ ซักซ้อมความเข้าใจ และต้องประกาศให้ประชาชนเปิดประตูหน้าต่างของที่อยู่อาศัยของตน เพื่อลดความเสียหายของอาคารบ้านเรือนและลดอันตรายจากเศษกระจก หากเกิดระเบิดขึ้น
  4. การขุดหลุมในพื้นที่ที่เลือกว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยขุดหลุมใต้พื้นน้ำให้เป็นหลุมกว้างลึกลงไป 5-10 เมตร ความกว้าง 11-12 เมตร เพื่อหย่อนลูกระเบิดลงในหลุมและดำเนินการให้ปลอดภัย โดยเลือกวิธีใดวิธีหนึ่ง ดังนี้
    1. การใช้ Linear Shape Charge ตัดท้ายของลูกระเบิด ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้วัตถุระเบิดปริมาณน้อ
    2. การใช้ Baldrick Shape Charge เจาะเปลือกลูกระเบิดอากาศ แล้วบรรจุวัตถุระเบิดเข้าไป และทำให้เกิดการเผาไหม้
    3. ใช้ Rocket wrench ในการถอดชนวน 
วิธีที่แนะนำ คือ วิธีที่ 4.1 แต่วิธีที่ 4.3 ไม่แนะนำให้ใช้

ในการเก็บกู้ลูกระเบิด ที่อังกฤษ ไม่มีมาตรฐานรับรอง ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญของผู้ปฏิบัติงาน และเครื่องมือที่ใช้ปฏิบัติ หัวใจหลัก คือ ไม่ใช้คน ต้องใช้เครื่องมือควบคุมระยะไกล โดยไม่ให้คนอยู่ใกล้กับระเบิดเลย เพราะทุกวิธีมีโอกาสลูกระเบิดจะระเบิดขึ้นได้ ต้องให้คนปลอดภัย 

ระเบิดชนิดนี้ ไม่มีระบบความปลอดภัย เป็นระเบิดที่พร้อมทำงานด้วยตัวเองตลอดเวลา เป็นระเบิดที่จุดชนวนด้วยสารเคมี ต้องพยายามลดความเสี่ยงให้มากที่สุด สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีการประเมินความเสี่ยงทั้งหมดว่า เวลา พื้นที่ ควรจะอยู่ที่ระดับใด ตรงไหนที่จะพอยอมรับความเสี่ยงได้ 

คำแนะนำของสหรัฐอเมริกา

Major Jay Malloy ผู้แทนจากคณะที่ปรึกษาทางการทหารสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (JUSMAGTHAI) และ Dr.Christopher Cowlin ผู้แทนจาก Expeditionary Exploitation Unit ONE (EXU-1) ได้ให้ข้อแนะนำแก่คณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมเมือวันที่ 1 มีนาคม 2562 สรุป ดังนี้

หลักการในการเก็บกู้ครั้งนี้ ยึดหลักความปลอดภัยเป็นอันดับแรก (Safety first) ต่อมาคือการปกป้องทรัพย์สิน (Protect property) ควรมีการคำนวณแรงระเบิด สะเก็ดระเบิด ระยะปลอดภัย และผลกระทบอย่างชัดเจน สำรวจบริเวณโดยรอบรัศมี 1 กม. ว่ามี ท่อส่งน้ำมัน การก่อสร้าง สายเคเบิล ใต้น้ำหรือไม่ การจัดเตรียมด้านการปฐมพยาบาล ด้านการส่งกลับสายแพทย์ ด้านการดับเพลิง และบรรเทาสาธารณภัยให้พร้อม เวลาช้าเร็วไม่ใช่ปัญหา แต่ความรีบเร่งต่างหากที่จะก่อให้เกิดปัญหา การปฏิบัติใดๆ เกี่ยวกับลูกระเบิดควรปฏิบัติการใต้น้ำ เพราะหากเกิดระบิดขึ้น ความลึกของน้ำเป็นตัวช่วยลดแรงดันและสะเก็ดระเบิด การใช้ถุงทราย หรือ Big bag ทำแนวป้องกันให้กับลูกระเบิดที่เหลือ เมื่อทำการยกหรือเคลื่อนย้ายลูกใดลูกหนึ่ง ไม่แนะนำให้ทำลาย ณ จุดที่พบ ด้วยวิธี High order หรือ Low order และไม่แนะนำให้ใช้วิธีถอดเกลียวชนวนระเบิดระยะที่ปลอดภัย (Rocket Wrench) และหากจะใช้เทคนิคการลดแรงระเบิด (Low order technique) มีโอกาสที่จะสำเร็จร้อยละ 70 

หากตกลงใจเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดด้วยวิธีใดแล้ว ก่อนการปฏิบัติงานจริง ควรมีการฝึกอย่างน้อย 6-8 เดือน เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งทาง JUSMAGTHAI ยินดีจะช่วยฝึกให้

คำแนะนำจากเยอรมนี
นาวิน วุฒิรณฤทธิ์ (21 มี.ค.2562. ไลน์ส่วนตัว) ได้ปรึกษาเป็นการส่วนตัวไปยัง C.Rottner ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยบริการเก็บกู้และทำลายสรรพาวุธระเบิดของรัฐบาลกลางสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำรัฐ Baden-Wuerttemberg หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานพลเรือนไม่ใช่ของกองทัพ ขึ้นการบังคับบัญชาต่อกระทรวงมหาดไทยของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มีประสบการณ์ในการเก็บกู้ระเบิดหลากหลายชนิด จำนวนหลายครั้ง ในเยอรมนีและออสเตรีย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 เป็นต้นมา โดย C.Rottner ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ควรที่จะเคลื่อนย้ายลูกระเบิดที่พบเป็นอันขาด เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ 

หากทางประเทศไทยต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการจากประเทศไทยไปยังกระทรวงมหาดไทยสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (The German Federal Ministry of the Interior) สำเนาถึง กระทรวงมหาดไทยของรัฐ Baden-Wuerttemberg (The Federal Ministry of Baden-Wuerttemberg-Kampfmittelbeseitigungsdienst) ซึ่งทางหน่วยงานของ C.Rottner ยินดีที่จะให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือต่อไป

การเกิดระเบิดต่อเนื่อง
ในการทำลายลูกระเบิดด้วยวิธี High Order หรือ Low Order หากลูกระเบิดเกิดการระเบิดขึ้น หรือวัตถุระเบิดที่ใช้ทำ Low Order เกิดระเบิดขึ้น จะเกิดคลื่นกระแทก (Shock wave) ผ่านน้ำ และเกิดแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน (Shock on earth) ซึ่งหากคลื่นและแรงทั้งสองนี้ ไปกระทบลูกระเบิดที่อยู่ในบริเวณรัศมี 70 เมตร จากจุดศูนย์กลางระเบิด ลูกระเบิดลูกนั้นจะเกิดการระเบิดขึ้นได้ หากมีหลายลูกก็จะเกิดการระเบิดต่อเนื่องได้ ดังนั้นหากมีการทำลายลูกระเบิดด้วยวิธีนี้ จึงไม่ควรมีลูกระเบิดใดๆ อยู่ในรัศมี 70 เมตร จากจุดศูนย์กลางระเบิด 

การเกิดคลื่นกระแทกและแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน

อธิบายภาพด้านบน หากระเบิดลูกที่ 1 เกิดระเบิดขึ้น คลื่นกระแทกและแรงสั่นสะเทือนใต้ดิน จะส่งผลให้ลูกระเบิดลูกที่ 2 เกิดระเบิดขึ้นได้

สรุปข้อพิจารณาความเสี่ยงที่ควรคำนึง
จากที่กล่าวมาสามารถสรุปข้อพิจารณาความเสี่ยงที่ควรคำนึงได้ ดังนี้

  1. การยกและการเคลื่อนย้ายลูกระเบิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดระเบิดขึ้นได้ตลอดเวลา เนื่องจากชนวนของลูกระเบิดชนิดนี้ ทำงานด้วยสารเคมี โอกาสที่จะเกิดระเบิด ร้อยละ 70-80
  2. ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสิ่งสำคัญที่สุด หากเป็นไปได้ควรใช้เครื่องมือที่สามารถควบคุมระยะไกลได้ 
  3. ให้ความระมัดระวังเรื่องการเกิดระเบิดต่อเนื่อง ในโอกาสที่เกิดความผิดพลาด 
  4. ควรมีการจัดทำแนวป้องกันแรงระเบิดและสะเก็ดระเบิด ในทุกพื้นที่จะกระทำได้ เพื่อป้องกันการระเบิดต่อเนื่อง และเพื่อปกป้องโครงสร้างของสะพาน อาคาร และทรัพย์สินที่อยู่โดยรอบ หรือตามแนวตลิ่งทั้งสองข้างที่ลูกระเบิดถูกเคลื่อนย้ายไป 
  5. แผนการอพยพประชาชนออกจากรัศมีอันตราย ต้องดำเนินการให้ได้ 100% ไม่ว่าจะใช้การเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดด้วยวิธีใด
  6. การใช้เทคนิคการลดแรงระเบิด (Low order technique) หากเป็นไปได้ควรเลือกใช้เทคนิคที่ไม่ต้องใช้วัตถุระเบิด เช่น การตัดหรือถอดชนวน ด้วยเครื่องตัดโลหะใต้น้ำแรงดันสูง 
  7. การปฏิบัติการใดๆ ต่อลูกระเบิด ให้ปฏิบัติการใต้น้ำตลอดเวลาในความลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากเกิดผิดพลาดเกิดการระเบิดขึ้น ความลึกของน้ำจะช่วยลดแรงดันและสะเก็ดระเบิดได้
  8. หากมีแผนการเก็บกู้และทำลายลูกระเบิดที่ตกลงใจแล้ว ต้องมีการซักซ้อมการปฏิบัติในทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความแม่นยำ ความเข้าใจ และลดการเกิดความผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเลย

***********************

อ่านต่อ การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment)
กลับหน้า บทความทางวิชาการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม